สถิติ
เปิดเมื่อ10/07/2012
อัพเดท8/01/2015
ผู้เข้าชม380745
แสดงหน้า448698

ทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
9325167615239
ปฎิทิน
May 2024
Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat
   
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 




วิธีรักษาโรคเกาต์

17/07/2014 23:15 เมื่อ 17/07/2014 เข้าชม 889
 
วิธีรักษาโรคเกาต์
 
  • วิธีการบำบัด รักษาโรคเกาต์   ***** โรคเกาต์คืออะไร *****
         โรคเกาต์เป็นผล จากการที่ร่างกายมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงเกินจุดอิ่มตัว จนเกิดการตกตะกอนเป็นผลึกเกลือยูเรต (คล้ายกับน้ำเชื่อมที่เข้มข้นตกผลึกเป็นเกล็ดน้ำตาล หรือน้ำเกลือเข้มข้นที่ตกผลึกเป็นเม็ดเกลือ) โดยผลึกเหล่านี้จะสะสมตามเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณรอบๆ ข้อ และไต รวมทั้งอวัยวะอื่นๆ ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งได้แก่ ข้ออักเสบ นิ่วในไต หรือภาวะทำงานบกพร่องตามมา แต่เราจะรู้จักกันแค่ข้ออักเสบเป็นส่วนใหญ่ 
      สาเหตุ
      
    ระดับกรดยูริกในเด็กจะมีค่าประมาณ 3-4 มิลลิกรัม/เดซิลิต แต่ในเพศชาย ระดับกรดยูริกจะมีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ส่วนระดับกรดยูริกในเพศหญิงจะมีค่าเพิ่มขึ้นภายหลังวัยหมดประจำเดือน (เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงจะทำหน้าที่เร่งการขับกรดยูริกออกทางไต) กรดยูริกที่เพิ่มขึ้นจะค่อยๆ ตกตะกอนเป็นผลึกเกลือยูเรตสะสมในร่างกายจนมากพอ และก่อให้เกิดข้ออักเสบขึ้น ซึ่งในเพศชายมักเกิดในช่วงอายุประมาณ 30-45 ปี ในขณะที่เพศหญิงจะเกิดภายหลังการหมดประจำเดือนไปประมาณ 5-10 ปี อย่างไรก็ดีการที่ระดับกรดยูริกในเลือดสูงเพียงชั่วคราวจะไม่สามารถทำให้ เกิดการตกตะกอนผลึกเกลือยูเรตในเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ ดังนั้นสาเหตุที่ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานๆ และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเกาต์มักได้แก่

          - ความผิดปกติของเอนไซม์ในเมตาบอลิซึมของสารพิวรีนในร่างกาย (สารพิวรีนเป็นสารตั้งต้นของกรดยูริก) ทำให้ร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากเกินปกติ ความผิดปกตินี้จะก่อให้เกิดภาวะกรดยูริกในเด็ก และก่อให้เกิดโรคเกาต์ในคนอายุน้อย 
    - มีการสร้างและสลายเซลล์ต่างๆ ของร่างกายเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับกรดยูริกเพิ่มสูงขึ้น เช่น มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ส่วนมะเร็งที่เป็นก้อน เช่น มะเร็งปอด ตับ ลำไส้ มักไม่ก่อให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงมากนัก


          - ภาวะไตทำงานผิดปกติ เนื่องจากกรดยูริกที่ร่างกายสร้างขึ้นจะมีการขับออกทางไตเป็นหลัก เมื่อมีภาวะไตทำงานบกพร่องจึงเป็นสาเหตุให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น

          - การได้รับยาหรือสารบางอย่าง ที่ทำให้มีการลดการขับกรดยูริกออกทางไต เช่น ยาแอสไพรินขนาดต่ำ ยารักษาวัณโรค ยาขับปัสสาวะ และสุรา เป็นต้น

    กลุ่มเสี่ยง
         ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์สูง ได้แก่
         - เพศชาย อายุช่วงประมาณ 30-45 ปี หรือเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือนด้วยสาเหตุดังกล่าวไปแล้ว
         - ผู้ที่มีโรคร่วมซึ่งได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในโลหิตสูง
         - ผู้ที่ดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์เป็นประจำ
         - ผู้ที่รับประทานอาหารเนื้อสัตว์และอาหารทะเลปริมาณมากเป็นประจำ
         - ผู้รับประทานยาบางชนิดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เช่น ยาขับปัสสาวะ

         - ผู้ที่มีภาวะไตทำงานบกพร่อง เป็นสาเหตุให้มีการคั่งของกรดยูริกในเลือด 
    อาการและการดำเนินโรค
         โรคเกาต์ อาจแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ คือ  ระยะแรก เป็นช่วงที่ยังไม่มีอาการ แต่ตรวจพบระดับกรดยูริกในเลือดสูง (แม้จะทำการตรวจซ้ำแล้วก็ตาม) โดยไม่สามารถหาสาเหตุ หรือเมื่อพยายามแก้ไขสาเหตุของระดับกรดยูริกในเลือดที่สูงแล้วก็ตาม ในระยะนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าจำเป็นต้องรับการรักษาหรือไม่ แต่มีหลักฐานว่าควรจะต้องรักษาหากตรวจพบนิ่วกรดยูริกในทางเดินปัสสาวะ หรือพบว่าระดับกรดยูริกนั้นสูงกว่า 13.0 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในเพศชาย และ 10.0 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในเพศหญิง เนื่องจากถ้าติดตามไปจะพบว่า มีโอกาสเกิดภาวะไตวายหรือเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะเพิ่มขึ้นได้ถ้าไม่รักษา

          ระยะข้ออักเสบกำเริบเฉียบพลัน ระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อ และมีข้ออักเสบอย่างรุนแรง โดยข้ออักเสบจะเกิดขึ้นเอง หรืออาจมีตัวกระตุ้น เช่น การได้รับการกระแทกบริเวณข้อ การดื่มสุราหรือเบียร์ การรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ยอดผัก เป็นต้น ข้อที่อักเสบจะบวม แดง ร้อน อย่างชัดเจน (รูปที่ 1) ผู้ป่วยจะขยับข้อลำบาก ปวด และทรมาน ในบางรายอาจมีอาการไข้ หรือหนาวสั่นร่วม ซึ่งทำให้แยกยากจากข้ออักเสบจากการติดเชื้อ ข้อที่พบจะเป็นกับข้อส่วนล่างของร่างกาย เช่น ข้อหัวแม่เท้า ข้อเข่า และข้อเท้า ข้ออักเสบมักเป็นเพียง 1-2 ข้อ การอักเสบในระยะแรกๆ จะเป็นอยู่นาน 5-7 วัน และสามารถหายได้เองโดยไม่ได้รับการรักษา และอาจเป็นใหม่ในระยะเวลาต่อมาอีก 1-2 ปี โดยระยะแรกๆ การอักเสบแต่ละครั้งจะห่างกันมาก แต่ถ้าเป็นมานานและได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง ผลึกเกลือยูเรตจะสะสมในร่างกายมากขึ้น ข้ออักเสบในแต่ละครั้งจะมีจำนวนมากขึ้น และเป็นถี่ขึ้น ซึ่งในบางรายอาจมีข้ออักเสบกำเริบทุกเดือน เมื่อมีข้ออักเสบติดต่อกันทำให้ดูเหมือนเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง ข้อจะผิดรูป ทำให้ดูคล้ายโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ (รูปที่ 2)

          ระยะข้ออักเสบสงบหรือช่วงที่ไม่มีอาการ เป็นช่วงระยะเวลาระหว่างข้ออักเสบแต่ละครั้ง ซึ่งในระยะแรกๆ ช่วงเวลานี้จะนาน อาจนานเป็นปี จนผู้ป่วยลืมการอักเสบครั้งก่อนไปแล้ว แต่ถ้าเป็นมากขึ้น ระยะเวลาที่ไม่มีอาการนี้จะสั้นลงเรื่อยๆ

          ระยะมีปุ่มก้อนโทฟัส เป็นระยะท้ายของโรค มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์มานานกว่า 5 ปี และได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ผลึกเกลือยูเรตที่สะสมตามเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายสะสมเป็นก้อน ปูดออกมาบริเวณผิวหนังรอบๆ ข้อ (เรียกว่าปุ่มโทฟัส) ตำแหน่งที่พบปุ่มก้อนได้บ่อย ได้แก่ บริเวณข้อเท้า ตาตุ่ม ข้อศอก นิ้วมือ นิ้วเท้า (รูปที่ 3ก.และ 3ค.) ปุ่มก้อนเหล่านี้จะกัดกินกระดูกให้กระดูกแหว่ง ข้อถูกทำลาย (รูปที่ 4) และเกิดความพิการในที่สุด ในระยะนี้ ผู้ป่วยจะเริ่มมีความผิดปกติในระบบอื่นๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะระบบไต เนื่องจากผลึกเกลือยูเรตสะสมที่ไต ทำให้ไตวาย เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และมีภาวะโรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจร่วมด้วย  
     การวินิจฉัย

         ถึงแม้ว่าโรคเกาต์จะเป็นผลจากการที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูง แต่การมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงร่วมกับมีข้ออักเสบไม่ได้หมายความว่าผู้ ป่วยต้องเป็นโรคเกาต์ เพราะมีภาวะต่างๆ ที่ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงมากมาย ดังนั้น การวินิจฉัยโรคเกาต์ที่แม่นยำที่สุดจึงจำเป็นต้องเจาะตรวจน้ำไขข้อในขณะที่ ข้อมีการอักเสบ ซึ่งเมื่อนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบผลึกเกลือรูปเข็มในน้ำไขข้อ (รูปที่ 5) ในกรณีที่ไม่มีข้ออักเสบ แต่ตรวจร่างกายพบปุ่มโทฟัส แพทย์อาจใช้เข็มสะกิดบริเวณปุ่มนั้นๆ ซึ่งจะได้สารสีขาวคล้ายชอล์กมา เมื่อไปส่องกล้องดูก็จะพบผลึกเกลือยูเรตเช่นกัน

          ในกรณีที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ขณะที่ข้ออักเสบหายแล้ว และตรวจไม่พบปุ่มโทฟัส การวินิจฉัยอาจทำได้ยาก แต่ก็อาจอาศัยลักษณะทางคลินิกที่ผู้ป่วยบอกเล่าและการมีระดับกรดยูริกใน เลือดสูงประกอบ แต่ความแม่นยำของการวินิจฉัยแบบนี้จะไม่ค่อยสูงมากนัก หรือแพทย์อาจพิจารณาโดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคเกาต์ของวิทยาลัยโรคข้อและรู มาติสซั่มของประเทศสหรัฐอเมริการ่วมก็ได้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเกณฑ์ต่างๆ อย่างน้อย 6 ใน 12 ข้อ

     

    การรักษา
         การรักษาโรคเกาต์ประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ

          การรักษาด้วยวิธีการที่ไม่ใช้ยา ได้แก่ การลดน้ำหนักในรายที่น้ำหนักตัวมากเกินไป การดื่มน้ำให้มากเพื่อช่วยการขับกรดยูริกออกทางไต งดการดื่มสุราและแอลกอฮอล์ทุกชนิด ลดการรับประทานอาหารประเภทเครื่องในสัตว์ สัตว์ปีก อาหารทะเล เป็นต้น (ไม่จำเป็นต้องงด เนื่องจากมีการศึกษาที่พบว่า การรับประทานอาหารที่ไม่มีสารพิวรีนเลยทำให้ระดับกรดยูริกในร่างกายลดลง เพียง 1.0 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เท่านั้น)
    การรักษาด้วยวิธีการใช้ยา วิธีนี้แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ

          - ระยะที่มีข้ออักเสบเฉียบพลัน ยาที่ใช้ได้แก่ ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (ผลข้างเคียงที่สำคัญคือ การระคายกระเพาะ และกระเพาะเป็นแผลในระยะสั้น ส่วนการใช้ระยะยาวอาจทำให้ไตทำงานบกพร่อง) ยาโคลชิซีน (ผลข้างเคียงที่สำคัญคือ ท้องร่วง) และยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (ผลข้างเคียงระยะสั้นพบน้อย) ยาเหล่านี้จะใช้ประมาณ 5-10 วันเฉพาะช่วงที่ข้ออักเสบกำเริบ เมื่อข้อหายสงบดีก็สามารถหยุดยาได้
     

          - ระยะให้ยาป้องกันข้ออักเสบกำเริบ อาจใช้ยาในกลุ่มที่ใช้รักษาระยะที่มีข้ออักเสบเฉียบพลัน แต่ใช้ในขนาดต่ำ ซึ่งยาคอร์ติโคสเตียรอยด์อาจมีผลข้างเคียงระยะยาวคือ กระดูกพรุน ติดเชื้อง่าย ภาวะเบาหวาน และไขมันในเลือดสูง ต้อกระจก กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น โดยการใช้ยาป้องกันมักให้ไปนานภายหลังจากควบคุมระดับกรดยูริกได้ดี และหากผู้ป่วยไม่มีข้ออักเสบกำเริบนานประมาณ 6 เดือน อาจพิจารณาหยุดยาได้ กรดยูริก การรักษาส่วนนี้มีความสำคัญที่สุดที่จะทำให้โรคหายขาดได้ เนื่องจากการให้ยาลดกรดยูริก ก็เพื่อทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดต่ำอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผลึกเกลือยูเรตที่สะสมตามเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายละลายออกมา (เหมือนมีผลึกน้ำตาลหรือผลึกเกลือ แล้วเอาน้ำเปล่าเปลี่ยนใส่ตลอดเวลา) โดยยาที่ลดระดับกรดยูริกมี 2 ชนิดคือ ยาเร่งการขับกรดยูริกออกทางไต (ได้แก่ ยาโพรเบเนซิด ยาเบนซ์โบรมาโรน และยาซัลฟิลพัยราโซน) ส่วนยายับยั้งการสร้างกรดยูริก ได้แก่ ยาอะโลพิวรินอล ซึ่งการให้ยาลดกรดยูริกจะต้องปรับขนาดยาสม่ำเสมอ เพื่อให้ระดับกรดยูริกในเลือดต่ำกว่า 6.0 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในรายที่ไม่มีปุ่มโทฟัส และต่ำกว่า 5.0 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในรายที่มีปุ่มโทฟัส โดยในรายที่ไม่มีปุ่มโทฟัส ผู้ป่วยควรได้รับยาลดกรดยูริกไปนานประมาณ 5 ปี ส่วนรายที่มีปุ่มโทฟัส ควรได้รับยาต่อภายหลังจากปุ่มโทฟัสหายไปแล้วอีก 5 ปี ทั้งนี้คาดว่าน่าจะละลายผลึกเกลือยูเรตออกไปได้มากพอ ส่วนในรายที่มีนิ่วในทางเดินปัสสาวะควรได้รับยาลดกรดยูริกรับประทานตลอด ชีวิต

    การใช้ยาในการรักษาแต่ละช่วงจะขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยเอง และโรคร่วมที่มี ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

         ดังได้กล่าว แล้วว่า โรคเกาต์เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาที่ไม่ถูกทางจะทำให้โรคมีความรุนแรง ที่เข้าสู่ระยะที่มีปุ่มก้อน ข้อ และกระดูกถูกทำลาย รวมทั้งเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบไต หัวใจ และหลอดเลือด ดังนั้น การตั้งใจให้ความร่วมมือในการรักษาและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้ รวมทั้งไม่มีอาการข้ออักเสบกำเริบอยู่บ่อยๆ ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย

    ปฏิบัติตัวไม่ให้โรคเกาต์กำเริบ
         ผู้ป่วยมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ผลการรักษาโรคเกาต์เป็นไปด้วยดี โดยผู้ป่วยสามารถมีส่วนช่วยได้ดังนี้
          - สอบถาม และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเกาต์ และวิธีการปฏิบัติตัวจากแพทย์ เพื่อการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง
          - รับประทานยาตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติ หรือมีผลข้างเคียงจากการรับประทานยาให้รีบปรึกษาแพทย์
         - ไม่ควรหยุดยา ปรับขนาดยา หรือซื้อยารับประทานเอง เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการแพ้ยาแล้ว ยังอาจจะทำให้ควบคุมโรคได้ไม่ดี โรคอาจกำเริบได้
         - ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัด แพทย์จำเป็นต้องตรวจเลือดเพื่อดูระดับกรดยูริก และหน้าที่การทำงานของตับและไตเป็นระยะๆ รวมทั้งอาจต้องปรับเปลี่ยนยา หรือขนาดของยาตามความเหมาะสม
         - ในกรณีที่เจ็บป่วยด้วยเรื่องอื่นหรือไปพบแพทย์ ควรนำยาที่รับประทานอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วยทุกครั้ง
         - รับประทานอาหารให้ถูกส่วน ครบหมู่ และเหมาะสม รวมทั้งดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 3,000 มิลลิลิตร
         - หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์
         - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่อข้อที่รุนแรง
         - หลีกเลี่ยงการบีบ นวด ถู บริเวณข้อ เนื่องจากสามารถกระตุ้นให้ข้ออักเสบกำเริบได้
         - ไม่ควรเริ่มรับประทานยาลดกรดยูริกเมื่อมีข้ออักเสบกำเริบอยู่ (ในรายที่ยังไม่ได้รับประทานยาลดกรดยูริก) และไม่ควรหยุดรับประทานยาลดกรดยูริกเมื่อมีข้ออักเสบกำเริบ (ในรายที่กำลังรับประทานยาลดกรดยูริกอยู่) เนื่องจากการกระทำทั้ง 2 อย่างจะทำให้มีการแกว่งของระดับกรดยูริกในเลือด ซึ่งจะกระตุ้นให้ข้ออักเสบกำเริบเป็นรุนแรงขึ้นหรือนานขึ้น     
    ***** รู้หรือไม่... โรคเกาต์รักษาได้หายขาด  - ข้อมูล *****
    ศ.นพ.วรวิทย์ เลาห์เรณู อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อและรูมาติสซั่ม
                                  ***********